รู้จัก “เบลเบิร์ด” นกเสียงดังที่สุดในโลก พอกับเสียงเจาะถนน ไว้ร้องโชว์พาวจีบตัวเมีย

ว่ากันว่าระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์คือ เสียงที่ดังเกิน 85 เดซิเบลที่ทุกความถี่ แต่รู้หรือไม่ นักวิทยาศาตร์ได้ค้นพบว่า มีนกชนิดหนึ่งสามารถเปล่งพลังเสียงได้ด้วยความดังถึง 116 เดซิเบล มีการเปรียบเทียบว่าระดับเสียงที่ว่านั้นดังพอ ๆ กับเสียงขุดเจาะถนนทีเดียว

นกเบลเบิร์ดสีขาว (White Belbird) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Procnias albus คือชื่อของนกเจ้าของสถิติเสียงดังที่สุดในโลก พบได้ในแถบทวีปอเมริกาใต้ โดยตัวผู้สามารถเปล่งพลังเสียงได้สูงสุดเท่าที่เคยวัดได้ถึง 125 เดซิเบล สาเหตุหนึ่งก็คือพวกมันทำไปเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์

ด้วยน้ำหนักตัวเพียง 250 กรัม แต่เสียงของมันกลับดังกว่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ทั้งลิงฮาวเลอร์ วังกระทิง แต่ยังไม่เท่าสิงโต ช้าง หรือวาฬ ซึ่งจากเสียงที่เคยวัดได้ของวาฬสเปิร์ม มันสามารถส่งเสียงร้องดังถึง 230 เดซิเบล ซึ่งวัดในระยะห่าง 800 กิโลเมตร

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมพวกมันถึงเกิดมาพร้อมเสียงที่ทรงพลัง และมีความจำเป็นแค่ไหนที่พวกมันต้องเปล่งเสียงแบบสุดพลังเพื่อโชว์พาวให้ตัวเมียได้รับรู้ รวมถึงพวกมันทนฟังเสียงนั้นได้อย่างไร เพราะระดับเสียงที่ดังขนาดนั้นย่อมก่อให้เกิดอันตรายกับหูพวกมันได้เช่นกัน

Jeff Podos นักชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์แอมเฮิร์สต์ และ Mario Cohn-Haft นักชีววิทยาจากสถาบันในบราซิล ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เหตุที่นกตัวเมียยอมทนฟังเสียงของมันนั้น ก็เพราะว่าจะได้รู้ถึงขีดความสามารถของนกตัวผู้ว่าตัวไหนจะเหมาะมาเป็นคู่ของมัน ก่อนที่จะเริ่มผสมพันธุ์กัน

พวกเขาได้เฝ้าสังเกตเห็นนกตัวเมียขณะเข้าไปใกล้ตัวผู้ที่กำลังจะเริ่มเปล่งเสียงออกมา

“โชคดีที่ตอนนั้นเราเห็นนกตัวผู้พยายามเปล่งเสียงดังที่สุดออกมา เหมือนกับว่ามันอยากจะบ่งบอกให้โลกรู้ว่าตัวมันโดดเด่นกว่านกตัวอื่นเป็นไหน ๆ”

“แต่เรายังไม่รู้ว่าสัตว์ตัวเล็กนี้สามารถส่งเสียงดังถึงขนาดนี้ได้อย่างไร เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการทำความเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพนี้อย่างแท้จริง”

นกเบลเบิร์ดตัวเมีย ไม่มีเหนียงเส้น ๆ และไม่มีเสียงที่ทรงพลังเหมือนตัวผู้

แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะบอกได้คือ เมื่อมันเปล่งเสียงดังขึ้นเท่าไหร่ เสียงก็จะค่อย ๆ สั้นลง เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของนกมีข้อจำกัด ซึ่งนักวิจัยก็กำลังศึกษาทางด้านชีววิทยา ไม่ว่าจะเป็นขนาดหัว จงอยปาก การหายใจของกล้ามเนื้อ ว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการส่งเสียงของพวกมันอย่างไร

ที่มา : abc , theguardian , nytimes