ยูทูเบอร์รีวิวร้านปูดอง หาว่าเอาของเหลือมาเสิร์ฟใหม่ แต่โป๊ะแตกที่ตัวเอง สุดท้ายทำร้านเจ๊ง

ความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้มีชื่อเสียงในโซเชียลมีเดีย คำพูดหรือการกระทำของพวกเขาย่อมมีน้ำหนัก สามารถส่งอิทธิพลมากกว่าคนทั่วไป แต่หากคำพูดเหล่านั้นเกิดจากความผิดพลาด หรือด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ย่อมสร้างความเสียหายต่อสิ่งที่พวกเข้าอ้างถึงเป็นทวีคูณ

ยูทูเบอร์หนุ่มชาวเกาหลีที่ใช้ชื่อว่า HayanTree ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 7 แสนคน ได้โพสต์คลิปวีดีโอลงยูทูบเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา เป็นการรีวิวร้านบุฟเฟ่ต์ปูดองเกาหลีของร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองแทกู

โดยขณะที่เขากำลังรีวิวตามปกติ เขาสังเกตเห็นเศษเมล็ดข้าวในน้ำซีอิ๊วที่เหลืออยู่ในจานปูดอง ทำให้เขาเกิดสงสัยว่าร้านอาจนำอาหารเก่าที่ลูกค้าคนอื่นกินเหลือมาเสิร์ฟให้หรือไม่

คลิปวีดีโอดังกล่าวกลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน และเกิดเป็นกระแสทัวร์ลงไปที่ร้านอาหารอย่างดุเดือด จนส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นทำให้ร้านอาหารต้องปิดตัวลงในเวลาต่อมา

เจ้าของร้านได้ออกมาชี้แจงกับสื่อว่า

“ภายในเวลาแค่ 2-3 ชั่วโมง หลังจากที่มีการลงคลิป พนักงานของร้านได้เข้าไปอธิบายในหลายคอมเมนต์แล้วว่าไม่ได้นำอาหารเก่ามาขายให้ลูกค้า ซึ่งสามารถยืนยันได้จากกล้องวงจรปิด แต่คอมเมนต์ของร้านกลับถูกบล็อกจนคนอื่นไม่สามารถเห็นได้เลย”

และด้วยความดราม่ายิ่งกว่านั้น ภาพจากกล้องวงจรปิดเผยให้เห็นว่า เมล็ดข้าวที่ HayanTree กล่าวหา ก็มาจากจานใบเดิมของเขาเอง ก่อนที่เขาจะใช้จานใบนั้นขอเติมปูดองเพิ่มจากทางร้าน

เมื่อหลักฐานชัดเจน HayanTree ก็ออกมายอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของเขาเอง พร้อมลบคลิปวีดีโอดังกล่าวที่มียอดวิวมากกว่า 1 ล้านครั้งออกไป และออกมาโพสต์คลิปวีดีโอเพื่อขอโทษในภายหลัง

“ผมอยากขอโทษเจ้าของร้านที่โพสต์คลิปไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมควรจะทำคลิปที่พูดถึงข้อเท็จจริงด้วยความตรงมาตรงมามากกว่านี้ และผมก็เสียใจที่ไม่ได้ทำอะไรเลย”

แต่การออกมาแถลงขอโทษของยูทูเบอร์เหมือนไม่ช่วยให้อะไรให้ดีขึ้น เพราะเจ้าของร้านกล่าวว่า ตอนที่เขามาที่ร้านเพื่อจะคลิปขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ทางร้านก็ปิดไปแล้ว

“ผมรู้สึกผิดหวังอย่างมาก และอยากจะรู้ว่าเราจะมีวิธีไหนที่ช่วยป้องกันการละเมิดจากพวกยูทูเบอร์ได้บ้าง ซึ่งมันน่ากลัวกว่าโควิดซะอีก”

และจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้ยอดผู้ติดตามของเขาลดลงจาก 7 แสนคน เหลือ 6.4 แสนคนอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงในโลกออนไลน์ของเกาหลีใต้ ที่มักเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ โดยคำพูดแม้เพียงนิดเดียวของบรรดาผู้มีชื่อเสียงในโลกโซเชียล ก็อาจสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในธุรกิจ โดยที่ไม่มีการควบคุมหรือกฎเกณฑ์ในเรื่องของการละเมิดที่ชัดเจน

ที่มา : koreaherald 하얀트리HayanTree