นักวิทย์ฯ พบหลุมอุกกาบาตยักษ์ที่เคยชนโลกเมื่อ 790,000 ปีก่อน ในประเทศลาว

เมื่อประมาณ 790,000 ปีก่อน โลกได้ถูกอุกกาบาตพุ่งชนจนแรงระเบิดทำให้พื้นที่ราว 10% ของโลกถูกปกคลุมไปด้วยเศษหินสีดำเงา หรือที่รู้จักกันในชื่อ อุลกมณี (tektites) ตั้งแต่คาบสมุทรอินโดจีนไปจนถึงแอนตาร์กติกาตะวันออก และจากมหาสมุทรอินเดียไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก

แต่ทว่า เป็นเวลากว่าหลายศตวรรษที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยพบร่องรอยหลุมอุกกาบาตที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นเลย

จนเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีทางการวิเคราะห์ธรณีเคมีที่ก้าวหน้า และการอ่านค่าความโน้มถ่วง ทำให้มีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบจุดที่เคยเป็นจุดตกของอุกกาบาตในอดีตจนได้

หลุมอุกกาบาตดังกล่าวอยู่บริเวณที่ราบสูงโบลาเวน ทางตอนใต้ของประเทศลาว โดยซ่อนลึกอยู่ใต้ชั้นลาวาที่เย็นตัวแล้ว ในความลึก 100 เมตร ความกว้าง 13 กิโลเมตร และมีความยาว 17 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,000 ตารางกิโลเมตร

เมื่อครั้งที่อุกกาบาตพุ่งชนโลกในอดีต ทำให้เกิดการหลอมละลายของหินบนพื้นดินจากมวลความร้อนมหาศาลจนกลายเป็นของเหลว ก่อนที่หินเหล่านั้นจะกลายเป็นอุลกมณีเมื่อเย็นตัวลง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถสำรวจความอุดมสมบูรณ์และแหล่งที่ตั้งของอุลกมณี เพื่อช่วยค้นหาพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุกกาบาตในครั้งนั้น

อุลกมณี (tektites)

แรงกระแทกของอุกกาบาตน่าจะก่อให้เกิดขอบหลุมขึ้นมาสูงกว่า 100 เมตร บริเวณตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีนตอนกลาง แต่เนื่องจากอุลกมณีกระจายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ไม่สามารถประเมินตำแหน่งที่แม่นยำของจุดที่อุกกาบาตตกได้

แต่จากงานวิจัยชิ้นล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าพื้นที่บางจุดของที่ราบสูงโบโลเวน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟระดับโลกในลาว มีลาวาแข็งตัวอยู่ในช่วงอายุ 51,000-780,000 ปี จนนำไปสู่การคาดการณ์ว่า หลุมอุกกาบาตอาจจะอยู่บริเวณนี้ก็เป็นได้

พวกเขาจึงตัดสินใจใช้เครื่องมือขุดเจาะลงไปใต้พื้นผิวลาวาในพื้นที่แห่งนี้มากกว่า 400 จุด และอ่านค่าแรงโน้มถ่วงที่ได้ ก่อนจะพบว่าพื้นที่บางจุดมีแรงโน้มถ่วงใต้ผิวดินที่ผิดปกติ โดยมีความหนาแน่นน้อยกว่าหินภูเขาไฟโดยรอบ ทำให้พวกเขามั่นใจว่า หลุมอุกกาบาตเมื่อ 790,000 ปีก่อนนั้น ต้องถูกฝังอยู่ในกองหินภูเขาไฟหนาทึบบริเวณนี้อย่างแน่นอน

ที่มา : livescience , pnas , foxnews