นักศึกษาสร้างเครื่องคัดลายมือ เพราะเบื่ออาจารย์สั่งว่า ต้องเขียนรายงานด้วยลายมือตัวเองเท่านั้น

โลกเราในปัจจุบันอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูล การเข้าถึงแหล่งข้อมูลทำได้ง่ายมาก และก็เกิดการขโมยผลงานทางอินเทอร์เน็ต หรือการก๊อปปี้วาง (Copy / Paste) ตามมา นั่นก็เป็นเหตุผลให้สถานศึกษาบางแห่งสั่งงานด้วยเงื่อนไขที่ว่า “ต้องเขียนรายงานด้วยลายมือเท่านั้น” แต่เอาเข้าจริงมันก็เป็นสิ่งที่หลายคนคงเบื่อไม่น้อย ไม่ต่างจากหนุ่มคนนี้

เรื่องราวเริ่มขึ้นจากหนุ่มนักศึกษาชาวญี่ปุ่นที่ใช้ชื่อทวิตเตอร์ว่า @tamu_misw เกิดรู้สึกเบื่อหน่ายที่อาจารย์สั่งให้เขียนรายงานมาส่ง เขามองว่า การที่ต้องมานั่งเขียนด้วยลายมือตัวเองเป็นสิบ ๆ หน้าเป็นการทำอะไรที่ซ้ำซากจำเจ

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเกิดไอเดียคิดประดิษฐ์ “เครื่องคัดลายมืออัตโนมัติเต็มรูปแบบ” ขึ้นมา

ในทวิตเตอร์ของเขากล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์ของเขาเสร็จสมบูรณ์แล้ว และต่อไปนี้ การที่อาจารย์จะมอบหมายรายงานที่ต้องเขียนด้วยลายมือเท่านั้น จะไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอีกต่อไป

เจ้าเครื่องที่ว่านี้แตกต่างจากเครื่องพิมพ์ทั่วไปก็คือ สามารถใช้ปากกา หรือที่เขาเรียกว่า พล็อตเตอร์ เขียนออกมาเป็นลายมือคนจริง ๆ หลักการทำงานคร่าวก็คือ การแปลงข้อความที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ ไปเป็นสัญญาณให้กับปากกาสามารถเขียนลงบนกระดาษเสมือนกับเป็นลายมือของคน

จุดแรกเริ่มของเครื่องคัดลายมือนี้ เกิดขึ้นจากการที่ Tamu ออกแบบมันขึ้นมาในในโปรแกรม 3D-CAD จากนั้นค่อยสร้างขึ้นมาด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

เขาประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงให้ปากกาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถขยับขึ้น-ลง-ซ้าย-ขวาได้ และเมื่อติดตั้งระบบควบคุมด้วย Arduino microcomputer ก็จะสามารถบังคับให้เคลื่อนไหวได้ โดยข้อมูลที่ต้องการเขียนจะถูกป้อนผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์

ไม่ว่าจะเป็นข้อความหรือรูปภาพประกอบ ก็สามารถทำได้หมด ส่วนความเร็วก็ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของเนื้อหา แต่ก็ใกล้เคียงกับการเขียนด้วยลายมือจริง ๆ

ภาพการ์ตูนที่ถูกออกแบบขึ้น และสั่งให้เครื่องจักรวาดออกมาตามแบบ

อุปสรรคต่อไปก็คือการสร้างรูปแบบตัวอักษร หรือฟอนต์ ชายหนุ่มได้เขียนตัวอักษรทั้งหมด 2,406 ตัว (ภาษาญี่ปุ่นทั้ง 3 แบบ , ภาษาอังกฤษ และตัวเลข) ด้วยเมาส์ปากกา

โดยเขาได้ทดลองเขียนตัวอักษรทั้งหมด ตัวละ 3 ครั้ง เพื่อให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลว่า ลายมือของเขาจะออกมาในลักษณะไหน ทำให้เขาต้องเขียนตัวอักษรต่าง ๆ ทั้งหมดประมาณ 7,000 ตัว ทั้งนี้ก็เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติ และเหมือนเขียนด้วยลายมือของคนที่สุด

ภาพซ้ายคือเขียนด้วยเครื่องจักร ส่วนภาพขวาคือลายมือของเขา

โพสต์ของเขาในทวิตเตอร์ พร้อมคลิปแสดงการทำงานของเจ้าสิ่งประดิษฐ์นี้

แต่สุดท้าย Tamu ก็ยังไม่ได้ส่งรายงานที่เขียนด้วยเครื่องคัดลายมือ แต่เขาก็คิดว่าบางทีสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาคนอื่น ๆ

แต่ถึงอย่างนั้น บางคนก็อาจสงสัยว่ามันดูยุ่งยากเกินไปไหม เพราะเราก็ต้องมาพิมพ์ข้อความลงในคอมพิวเตอร์ก่อนอยู่ดี ซึ่งมันจะต่างอะไรกับการที่เราเขียนด้วยลายมือตั้งแต่ทีแรก แต่สิ่งประดิษฐ์ของเขาก็ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ และมีคนชื่นชมในไอเดียของเขาไม่น้อย

ที่มา : @tamu_misw , fnn