นักวิทย์เผยใบหน้าเด็กหญิงยุคหิน ที่สร้างจาก DNA ที่พบในหมากฝรั่ง เมื่อ 5,700 ปีก่อน

เมื่อราว 5,700 ปีก่อน หรือ 3,000 กว่าปีก่อนคริสตกาล โลกเราอยู่ในยุคหินใหม่ ในดินแดนแถบสแกนดินีเวียมีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น และได้นำยางจากเปลือกของไม้เบิร์ชไปผ่านความร้อนเพื่อเคี้ยวเป็นหมากฝรั่ง

จนเวลาผ่านไปมาถึงปัจจุบัน วันที่ 17 ธ.ค. 2019 ก็มีรายงานว่า เศษหมากฝรั่งในอดีตได้ถูกค้นพบ และนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ในประเทศเดนมาร์ก ก็ได้ทำสิ่งที่น่าทึ่ง เมื่อพวกเขาสร้างรูปหน้าของหญิงสาวในยุคหินขึ้นมา โดยสกัดจาก DNA ที่พบในหมากฝรั่ง

พวกเขาได้นำรอยฟันที่ติดบนหมากฝรั่งที่ทำมาจากเปลือกต้นเบิร์ช ไปสกัดจีโนมที่สมบูรณ์ของมนุษย์ยุคโบราณ ก่อนจะนำจีโนมที่ได้วาดออกมาเป็นรูปร่างหน้าตาของผู้ที่เคี้ยวหมากฝรั่งชิ้นนี้

ศาสตราจารย์ Hannes Schroeder หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า

“มันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่เราสามารถสกัดจีโนมมนุษย์โบราณได้สมบูรณ์ออกมาจากหลักฐานอย่างอื่น ที่ไม่ใช่กระดูกของมนุษย์ นอกจากนั้น เรายังเก็บ DNA จากจุลินทรีย์ในช่องปากและเชื้อโรคสำคัญของมนุษย์ออกมาได้หลายชนิด ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลทาง DNA โบราณที่มีค่ามาก”

จากการวิเคราะห์พบว่า ผู้หญิงที่เคี้ยวหมากฝรั่งชิ้นนี้น่าจะมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับคนเก็บของป่าหรือนักล่าสัตว์จากทางยุโรปแผ่นดินใหญ่ มากกว่าจะเป็นชาวสแกนดิเนเวียเอง และมีความเป็นไปได้ว่าเธอจะมีผิวสีคล้ำ ผมสีดำ และดวงตาสีฟ้า

ก่อนที่ Tom Björklund จิตรกรชาวเดนมาร์ก จะนำข้อมูลวิจัยที่ได้มาวาดเป็นภาพของเด็กหญิง และได้ตั้งชื่อให้เธอว่า Lola

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า DNA ที่พบอาจเกี่ยวข้องกับไวรัส Epstein-Barr ซึ่งอาจนำไปเป็นข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับการพัฒนาของเชื้อโรคของมนุษย์ได้ต่อไป

“มันสามารถช่วยให้เราเข้าใจว่าเชื้อโรคมีวิวัฒนาการและแพร่กระจายไปตามกาลเวลาอย่างไร และอะไรทำให้พวกมันมีความรุนแรงในสภาพแวดล้อมเฉพาะ อีกทั้งการค้นพบนี้ ก็อาจช่วยให้เราทำนายถึงพฤติกรรมเชื้อโรคในอนาคตได้ รวมถึงวิธีการกำจัดกำจัดหรือกักกันเชื้อโรคได้อีกด้วย”

ที่มา : theguardian , foxnews , bbc