งานวิจัยใหม่ชี้ กทม. จะจมทะเลในอีก 30 ปีข้างหน้า หลายเมืองอาจหายไปจากแผนที่

Climate Central องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้วิเคราะห์และรายงานผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมล่าสุด โดยตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมีคนกว่า 150 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งจะท่วมสูงขึ้นมาอีกในอีก 30 ปีข้างหน้า

โดยผลการวิจัยใหม่ได้มีการปรับขึ้นการคาดการณ์จำนวนประชากรบนโลก ที่จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล ภายในปี 2050 ซึ่งมากกว่าผลวิจัยก่อนหน้านี้ถึง 3 เท่า หรือราว 300 ล้านคน

การวิจัยแต่เดิมนั้น จะประเมินผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น โดยใช้ความสูงของที่ดินที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมมาเป็นพื้นฐานการคำนวณ ซึ่งจะมีข้อผิดพลาดในการแยกแยะระดับพื้นดินที่แท้จริง เพราะจะมีเรื่องความสูงของต้นไม้หรืออาคารมาเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น Scott A. Kulp นักวิจัยของ Climate Central และหนึ่งในผู้เขียนรายงาน ได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อกำหนดค่าความผิดพลาดและแก้ไขใหม่ จึงพบว่าตัวเลขการคาดการณ์ในงานวิจัยก่อนหน้านี้ออกมาในแง่ดีเกินไป

รายงานการวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นพื้นที่เสี่ยงในหลายประเทศ แต่ที่ดูจะได้รับผลกระทบที่สุดจะอยู่ในเอเชีย ทั้งจีน เวียดนาม อินเดีย รวมถึงประเทศไทย

เวียดนาม ประชากรกว่า 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของทั้งหมด เสี่ยงที่จะต้องจมลงทะเล และภาคใต้ของประเทศจะหายไปจากแผนที่

ในอินเดีย ประชากรเกือบทั้งหมดในเมืองมุมไบจะจมสู่บาดาล

ในประเทศไทยเอง มีประชากรไทยมากกว่า 10% ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งที่เสี่ยงถูกน้ำท่วม รวมถึง กรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มจะจมทะเลภายในปี 2050 เทียบกับผลวิจัยก่อนหน้าที่ระบุว่า มีเพียงประชากรเพียง 1% เท่านั้น ที่จะได้รับผลกระทบ

Loretta Hieber Girardet เจ้าหน้าที่บรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติของสหประชาชาติ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะเพิ่มแรงกดดันให้กับเมืองต่าง ๆ ในหลายด้าน เช่น น้ำท่วมจากภาวะโลกร้อน จะผลักดันให้เกษตรกรละทิ้งบ้านเกิด เข้ามาหางานทำในตัวเมือง

ซึ่งจากที่ดูการคาดการณ์ในแผนที่ตามผลวิจัยใหม่ จะเห็นว่าพื้นที่น้ำท่วมตามแนวชายฝั่งจะลึกเข้าไปถึงชั้นในมากกว่าการประเมินในครั้งก่อนมาก สะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ก็คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ที่มา : nytimes , Nature Communications , telegraph , rollingstone