ชายสวมบท “ลุงจอมโหด” อัดคลิปทำหน้ายักษ์ ดุเด็กดื้อ ส่งให้พ่อแม่ขู่ให้ลูกกลัว ทำรายได้งาม

ชายชาวจีนคนหนึ่งกำลังเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก จากการสวมบทเป็น “ลุงจอมโหด” ที่จะคอยดุให้เด็ก ๆ หวาดกลัว หากพวกเขาไม่ยอมกินข้าวให้หมด หรือไม่ยอมรีบเข้านอนแต่หัวค่ำ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ คุณลงคนดังกล่าวได้รับความนิยม ถึงขนาดมีพ่อแม่หลายคนยอมจ่ายเงินจ้าง เพื่อให้มาดุลูกของพวกเขาให้ยอมเชื่อฟังกันเลยทีเดียว

Luo Qingjun คือชื่อของคุณลุงผู้นี้ อาศัยอยู่ในเมืองหลีสุ่ย มณฑลเจ้อเจียง ผ้เปรียบเสมือน “บูกี้แมน” ปีศาจร้ายในตำนานของชาวตะวันตก ที่พ่อแม่มักนำมาใช้เป็นเครื่องมือเอาไว้หลอกลูก ๆ ที่ดื้อให้เกิดความกลัวเวลาเล่นซน

โดยการทำงานของคุณลุงก็คือ จะอัดคลิปวิดีโอตอนทำหน้าดุใส่กล้องตามแต่สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการดุเด็ก ๆ ที่ไม่ยอมเข้านอนแต่หัวค่ำ ไม่ยอมกินข้าว หรือการไม่ยอมเก็บของให้เป็นระเบียบ แล้วนำคลิปส่งให้พ่อแม่ของเด็กเปิดขู่ให้ลูกยอมเชื่อฟัง แลกกับเงินค่าจ้าง

ในตอนแรก เขาเคยสวมบทเป็นลุงจอมโหด ดุใส่ลูกของเพื่อนมาก่อน แต่ทำไปทำมากลับได้ผลดี เพื่อนของเขาเลยนำไปบอกต่อ ๆ กับพ่อแม่คนอื่น จนกลายเป็นคุณลุงขี้โมโหผู้โด่งดังไปเลย

คุณลุง Lou จะมีวิธีกำราบให้เด็ก ๆ กลัวและยอมเชื่อฟังตามแต่สถานการณ์ ด้วยการระบุชื่อเด็กแต่ละคน และบอกว่า หากไม่เชื่อฟังเดี๋ยวจะโดนดีแน่ ทั้งที่พ่อแม่ก็ไม่อยากจะทำแบบนั้น

ตัวอย่างในคลิปที่ชายวัย 27 ปี อัดไว้แล้วส่งให้ลูกค้า

“ควรทิ้งขยะให้ลงถังนะ รู้ไหม ถ้าไม่ยอมฟังพ่อแม่ ลุงจะไปจับหนูมาเลย”

“ถ้าหนูไม่ยอมทำการบ้าน กินข้าวไม่หมด และไม่รีบนอน ลุงจะไปหาหนูเดี๋ยวนี้แหละ”

ซึ่งคลิปของเขาจัดว่าประสบความสำเร็จอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ รวมถึงลูกค้าหลาย ๆ คน ก็ดูจะพึงพอใจเป็นอย่างมาก

แน่นอนว่า การกระทำของเขาอาจดูไม่เหมาะสมในสังคมสมัยใหม่ในหลายประเทศ แต่พ่อแม่ชาวจีนหลายคนกลับชื่นชอบการสวมบทบาทเป็นลุงจอมโหดของเขา และยินดีจ่ายเงินเพื่อหวังปรับพฤติกรรมของลูกให้ดีขึ้น

เรื่องนี้เป็นที่ถูกพูดถึงไปทั่วประเทศจีน แต่ก็มีบางส่วนไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้สักเท่าไหร่ และเตือนว่าการทำหน้ายักษ์ดุใส่เด็กแบบนี้จะทำให้เกิดปัญหาทางสภาพจิตใจของเด็กมากกว่า

Zheng Xiaobian ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัย Central China Normal University ระบุว่า

“การข่มขู่ทางจิตใจเป็นอันตรายมากกว่าการลงโทษทางร่างกาย และเป็นการจำกัดการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงส่งผลกระทบด้านลบ ไม่เอื้อต่อการพัฒนาของเด็ก”

ที่มา : thepaper , odditycentral