‘มัมมี่รมควันแห่งคาบายัน’ ที่ผู้ตายจะถูกทำให้เป็นมัมมี่ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่

มัมมี่รมควันแห่งคาบายัน คือวิธีเก็บรักษาสภาพศพในสมัยโบราณ ของชนเผ่าอิบาลอยที่อาศัยอยู่บริเวณถ้ำคาบายัน ในประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่ามัมมี่ที่ถูกพบภายในถ้ำแห่งนี้ น่าจะถูกทำขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1,200 – 1,500 โดยประมาณ วิธีการทำมัมมี่ของชนเผ่าอิบาลอย ค่อนข้างแตกต่างกับทุกมัมมี่ที่ถูกค้นพบบนโลก ชนเผ่าอิบาลอยจะทำมัมมี่ในขณะที่ผู้เสียชีวิตยังมีชีวิตอยู่ หรือจะเรียกว่าทำมัมมี่ทั้งเป็นนั่นแหละ

.

.

โดยผู้ที่รู้ตัวว่ากำลังจะเสียชีวิตจะถูกนำมาที่ถ้ำคาบายัน เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการทำมัมมี่ เริ่มต้นด้วยการดื่มน้ำเกลือที่มีความเค็มถึงขีดสุด โดยความเค็มของน้ำเกลือจะเป็นตัวการ ที่ช่วยขับของเหลวต่างๆออกจากร่างกาย หลังเสียชีวิตศพจะถูกล้างทำความสะอาด เพื่อเตรียมความพร้อมในขั้นตอนถัดไป เมื่อทำความสะอาดศพเรียบร้อยแล้ว ศพจะถูกนำมาวางใกล้กับกองไฟเพื่อทำการรมควัน โดยศพจะไม่ได้สัมผัสกับไฟโดยตรง แต่จะสัมผัสเพียงเปลวไฟอ่อนๆ และกลุ่มควันเท่านั้น โดยในกองไฟจะมีส่วนผสมของสมุนไพรบางอย่างที่ช่วยให้ร่างกายแห้งภายในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้นอีกด้วย

.

.

การรมควันศพไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพศพ รวมถึงปัจจัยต่างๆ บางรายอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ หรืออาจนานเป็นเดือนเลยก็ได้ โดยเมื่อศพกลายเป็นมัมมี่ตามที่ชนเผ่าอิบาลอยต้องการแล้ว ศพจะถูกนำไปเก็บไว้ในโลงศพที่ทำจากไม้สน เพื่อเก็บรักษาสภาพศพเอาไว้ภายในถ้ำแห่งนี้ ไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่นอนว่า พิธีทำมัมมี่รมควันแห่งคาบายัน เริ่มต้นขึ้นในยุคสมัยใด แต่คาดว่าพิธีนี้น่าจะสิ้นสุดในช่วงที่ฟิลิปปินส์ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปนในศตวรรษที่ 16

.

.

โดยมัมมี่รมควันแห่งคาบายัน ถูกค้นพบโดยบังเอิญจากกลุ่มนักสำรวจในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีการลักขโมยมัมมี่ออกไปจำหน่ายในตลาดมืด ก่อนที่ทางการฟิลิปปินส์ จะเข้ามาดูแลและทำการอนุรักษ์ให้เป็นมรดกของชาติในเวลาต่อมา

.

ที่มา : spokedark