จีนเปิดใช้ ดวงตาจักรวาล ขนาด 30 สนามฟุตบอล พร้อมไขความลับจักรวาล สิ่งมีชีวิตนอกโลก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศจีนได้เปิดใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดยักษ์อย่างเป็นทางการ หลังจากทดลองใช้นานกว่า 3 ปี โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานรับสัญญาณเดี่ยว หรือที่เรียกว่า Five-hundred-meter Aperture Spherical radio Telescope (FAST) ตั้งอยู่ในเมืองกุ้ยหยาง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ลึกเข้าไปในธรรมชาติมีหุบเขาล้อมรอบ โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 500 เมตร และมีพื้นที่รับสัญญาณเทียบเท่าสนามฟุตบอล 30 สนาม

หลังจากทำการเปิดตัวไปเมื่อวันเสาร์ที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา และทยอยเปิดให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกเข้าใช้งาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการไขความลึกลับที่อยู่รายล้อมแหล่งกำเนิด และวิวัฒนาการของจักรวาล

เสิ่น จู๋หลิน (Shen Zhulin) เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (NDRC) กล่าวถึงการเปิดตัวครั้งนี้ว่า

กล้อง FAST ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น ดวงตาแห่งจักวาลของจีน (China Sky Eye) เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก มีความไวในการตรวจจับมากกว่ากล้องปกติถึง 2.5 เท่า และสามารถรับข้อมูลได้สูงสุด 38 กิกะไบต์ต่อวินาที

รวมถึงสามารถขยายระยะสำรวจได้ไกลกว่ากล้องทั่วไปถึง 4 เท่า ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบดาวฤกษ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน รวมถึงความลับของจักรวาลและสิ่งมีชีวิตนอกโลก ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจเทียบเท่าระดับชั้นนำของโลก

การก่อสร้างเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกันยายน 2016 ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 20 ปี ด้วยมูลค่า 1.2 พันล้านหยวน (ประมาณ 5.24 พันล้านบาท)

และเพื่อการสร้างกล้องให้เป็นไปอย่างราบรื่น ทำให้ต้องมีการย้ายคนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกว่า 7,000 คน ไปยังเมืองที่อยู่ห่างจากที่ตั้งของกล้องราว 10 กิโลเมตร และมีการสร้างสวนสนุกดาราศาสตร์ขึ้นมาโดยรอบจุดที่ตั้งกล้อง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มอีกทางหนึ่ง

ตามรายงานจากสื่อระบุว่า มีนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐ อังกฤษ และปากีสถาน เข้ามาทำงานที่นี่ โดยคาดว่าจะขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวางไปทั่วโลก เช่น การตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง และเครือข่ายการแทรกสอดระยะไกล (Very Long Baseline Interferometer-VLBI) หลังเปิดการใช้งานกล้องตัวนี้อย่างเป็นทางการ

ที่มา : xinhuanethindustantimes