ย้อนรอยเคนยา ปี 2007 เมื่อการเลือกตั้งมีความไม่ชอบมาพากล ความสูญเสียครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น

ประเทศเคนยา ประเทศในแอฟริกาตะวันออก ถือว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข้มแข็งที่สุดในภูมิภาค ย้อนไปเมื่อปี 1991 ประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งแบบระบบหลายพรรคขึ้นเป็นครั้งแรก จากเดิมที่พรรคสหภาพแห่งชาติเคนยา (Kenya National Union Party) หรือ KANU ปกครองประเทศแต่เพียงผู้เดียวมากว่า 10 ปี แต่พรรค KANU ก็ยังคงชนะการเลือกตั้งและกุมอำนาจทางการเมืองเรื่อยมาแม้จะมีความกระท่อนกระแท่นมาโดยตลอด

นาย Mwai Kibaki ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของเคนยา

จนกระทั่งปี 2002 พรรค KANU แพ้การเลือกตั้งให้แก่นาย Mwai Kibaki ด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้น พลิกประวัติศาสตร์การเมืองเคนยาที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของพรรค KANU มานานถึง 40 ปี และในการเลือกตั้งครั้งนั้นเองได้มีผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนาย Kibaki ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ซึ่งได้แก่นาย Raila Amolo Odinga ผู้คร่ำหวอดทางการเมืองและนักธุรกิจคนสำคัญในขณะนั้น

นาย Raila Amolo Odinga คู่ปรับทางการเมืองของนาย Kibaki 

แต่หลังการเลือกตั้งครั้งนั้นประธานาธิบดี Kibaki ได้ผิดคำสัญญาที่เคยบอกว่า จะแบ่งอำนาจการบริหารบ้านเมืองให้กับนาย Odinga ทำให้เขาไม่พอใจ และได้ไปยืนคนละขั้วกับประธานาธิบดี และจากการร่างรัฐธรรมนูญในปี 2005 เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าได้มาในทางมิชอบ จนเกิดความขัดแย้งกันระหว่างนาย Kibaki กับนาย Odinga เป็นเหตุให้ตั้งแต่นั้นทั้งคู่ก็กลายมาเป็นคู่ปรับทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบในการเลือกตั้งปี 2007

และปีนั้นเองก็เกิดความวุ่นวายขึ้น หลังผลการเลือกตั้งประกาศว่า นาย Kibaki ชนะนาย Odinga อย่างหวุดหวิด และได้ชิงสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ทันที ปิดทางให้นาย Odinga ร้องเรียนผลต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงเป็นชนวนเหตุแห่งความรุนแรงระหว่างสองชนเผ่าที่มีความตึงเครียดกันอยู่แล้วประทุขึ้น

อีกทั้งประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของเคนยา กลับให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ได้ถูกกดดันจากพรรคฝ่ายรัฐบาลให้รีบแถลงผลการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้ฝ่ายของนาย Odinga กล่าวหาว่า การรีบร้อนแถลงผลการเลือกตั้งเช่นนี้ มีเจตนาแอบแฝง และเป็นการกระทำส่อไปในทางทุจริต ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อประกาศผลพบว่า บางพื้นที่มีผลคะแนนเสียงมากถึง 115% ของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์จริง ๆ

และในที่สุดก็เป็นชนวนเหตุในการจราจล จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 1,100 คน และประชาชนกว่า 6 แสนคนต้องพลัดพรากจากที่อยู่

 

สุดท้ายทางอังกฤษในฐานะที่เคยปกครองเคนยาได้เรียกร้องให้สหภาพแอฟริกัน หรือ AU และเครือจักรภพ เกลี้ยกล่อมให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจากันเพื่อลดความรุนแรงลง และเรียกร้องให้มีการสอบสวนการทุจริตที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้งด้วย

ความรุนแรงจากการเลือกตั้งครั้งนั้นได้สร้างรอยแผลให้กับชาวเคนยาเป็นอย่างมาก และนับจากนั้นในทางการเมืองและรัฐบาลไม่เคยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกเลย

ที่มา : ส่วนหนึ่งจากบทความ วิกฤตเคนยา โดยนพ.ยงยุทธ มัยลาภ

อ้างอิง : hrw.orgblouinnews , theconversations