จีนเตรียมส่งกองทัพเป็ด 100,000 ตัว ไปปากีสถาน เพื่อต่อสู้กับฝูงตั๊กแตนที่กินพืชผลเสียหาย

ตั๊กแตนทะเลทราย คือตัวการสำคัญของภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านอาหารที่ประเทศปากีสถานต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้

เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปากีสถานถึงขั้นต้องประกาศภัยพิบัตินี้เป็นภาวะฉุกเฉิน หลังจากที่จำนวนตั๊กแตนนับ 4 แสนล้านตัวได้บุกทำลายพืชผลทางการเกษตรหนักที่สุดในรอบสองทศวรรษ

ซึ่งเพื่อนบ้านอย่างประเทศจีนย่อมไม่อาจอยู่เฉยได้ เพราะมันอาจส่งผลกระทบข้ามมายังเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนปากีสถาน จึงได้เตรียมส่งกองทัพเป็ดจำนวนกว่า 100,000 ตัว ไปยังปากีสถาน เพื่อช่วยแก้ปัญหาฝูงตั๊กแตนที่บุกมากินพืชผลเสียหาย

นายหลู ลี่จือ (Lu Lizhi) นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์เกษตรกรรมเจ้อเจียง (Zhejiang Academy of Agricultural Sciences) ผู้ริเริ่มความคิดในการใช้กองทัพเป็ดต่อกรกับพิบัติครั้งนี้ อธิบายว่า

“เป็ดหนึ่งตัวสามารถกินตั๊กแตนได้วันละมากกว่า 200 ตัว และมีประสิทธิภาพมากกว่าใช้สารกำจัดศัตรูพืชเสียอีก”

“เป็ดคือ ‘อาวุธชีวภาพ’ ที่เยี่ยมที่สุด หากเปรียบเทียบกับไก่ที่สามารถกินตั๊กแตนได้วันละราว 70 ตัว แต่เป็ดสามารถกินได้มากกว่าไก่ถึง 3 เท่า หรือราว 200 ตัวต่อวัน อีกทั้งฝูงเป็ดยังชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม ทำให้ง่ายต่อการควบคุมมากกว่าฝูงไก่”

อย่างไรก็ตาม กองทัพเป็ดยังไม่ถูกส่งออกไปทันที พวกเขาจะทดลองบางอย่างเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของพวกมัน บริเวณชายแดนเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกของจีน ในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ก่อน

และหากการทดสอบสำเร็จไปได้ด้วยดี กองทัพเป็ดนับแสนตัวก็จะถูกส่งไปพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในปากีถาน ได้แก่ แคว้นสินธ์ แคว้นบาลูจิสถาน และแคว้นปัญจาบ

หลังจากข่าวการใช้กองทัพเป็ดเป็นฮีโรเพื่อต่อกรกับฝูงตั๊กแตนถูกเผยแพร่ออกไป ก็สร้างความสนใจให้กับผู้คนในโลกออนไลน์ไม่น้อย แต่ก็อาจจะติดขัดปัญหาบางประการ

ศาสตราจารย์ ชาง หลง (Zhang Long) จากมหาวิทยาลัยเกษตรจีน (China Agriculture University) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนเดินทางไปยังปากีสถาน ได้ตั้งคำถามว่า เป็ดจะเหมาะกับสภาพที่แห้งแล้งเช่นนี้หรือไม่ ?

“เป็ดต้องพึ่งพาแหล่งน้ำ แต่ประเทศปากีสถานเป็นพื้นที่ทะเลทราย อุณหภูมิร้อนระอุเช่นนี้ พวกมันอาจไม่มีชีวิตอยู่รอดก็ได้”

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการส่งกองทัพเป็ดแก้ปัญหาภัยพิบัติจากตั๊กแตน เมื่อปี 2000 จีนได้เคยส่งกองทัพเป็ด 30,000 ตัว จากมณฑลเจ้อเจียง ไปยังเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์เพื่อกำจัดฝูงตั๊กแตนมาแล้ว

ตามข้อมูลสหประชาชาติ ระบุว่า การระบาดอย่างหนักของฝูงตั๊กแตนมีต้นตอมาจากฤดูพายุไซโคลนในปี 2018-2019 ทำให้เกิดฝนตกหนักมาบริเวณสมุทรอาหรับ ส่งผลให้ตั๊กแตนมีการผสมพันธุ์กันอย่างไม่เคยมีมาก่อน ก่อนที่พวกมันได้แพร่กระจายออกไปในเอเชียใต้และแอฟริกาตะวันออก

ที่มา : bbc , unilad , bloomberg