7 ตำนานที่อยู่ในยุคเดียวกับ Nokia 3310

.

เราทราบกันดีว่าชื่อเสียงของ Nokia 3310 เป็นที่ประจักษ์แค่ไหนในแง่ของมือถือที่เป็นตำนานด้านความทึกทน โดนรถชน ตกตึก รถทับ ตกน้ำก็ยังไม่พัง จนวันที่ Nokia 3310 เวอร์ชั่นใหม่กลับมา แต่เราก็ยังคงคิดถึงความทึก และทนของ Nokia รุ่นนั้นอยู่เสมอ

แต่ไม่ใช่แค่ Nokia 3310 เท่านั้นที่สร้างตำนานของตัวเอง ในยุคเดียวกัน (หมายถึงมีปีเกิดใกล้เคียงกัน) กับ Nokia ก็มีอีก 7 ตำนานเกิดขึ้นและกลายเป็นสิ่งที่แม้วันเวลาจะผ่านไปแค่ไหน เราก็ยังนึกถึงอยู่ในฐานะ ‘ตำนานแห่งยุคสมัย’ เรื่องราวเหล่านั้นได้ถูกบันทึกไว้แล้ว ซึ่งเราจะเอามาเปิดเผยให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา

.

1. Tamagotchi

ปีที่เกิด พ.ศ. 2539 (เข้าเมืองไทย พ.ศ. 2540)

"

.

เกมสัตว์เลี้ยงดิจิตอลของญี่ปุ่นที่สร้างปรากฎการณ์คนมารอซื้อเพียบ คล้ายกับต่อแถวรอซื้อไอโฟน หรือต่อแถวรอซื้อ Adidas Yeezy นั่นแหละ หลังจากญี่ปุ่นฮิตไปก่อนหน้าได้ไม่นาน ทามาก็อตจิก็ตีตลาดเมืองไทย พร้อมกับทามาก็อตจีน ที่ทำของเลียนแบบออกมา
ทามาก็อตจิต้นตำหรับให้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่หน้าตาประมาณนกบวกไก่เท่านั้น แต่ของจีนนี่เลี้ยงได้ตั้งแต่หมา แมว คน ไดโนเสาร์ ไปจนถึงเอเลี่ยน! ยุคนั้นทามาก็อตจิ (รวมถึงทามาก็อตจีนด้วย) กลายเป็นของต้องห้าม ใครเอาไปโรงเรียน ครูยึดนะครับ

.

2. Hotwave Music Award

ปีที่เกิด พ.ศ. 2539

"

.

เวทีประกวดดนตรีระดับมัธยมศึกษาจัดโดยคลื่น Hotwave 91.5 FM เวทีนี้แจ้งเกิดนักร้อง และนักดนตรีดังหลายคน ปีแรกแชมป์เวทีนี้คือวง ‘ละอ่อน’ ที่ในเวลาต่อมา เรารู้จักพวกเขาในชื่อ ‘BodySlam’ นอกจากนี้ กะลา, แคลช, ลาบานูน, สล็อตแมชชีน, เรโทรสเปกต์, ลุลา หรือ แหลม ทเวนตีไฟฟ์อาเวอส์ ก็ล้วนแจ้งเกิดจากเวทีนี้เช่นกัน น่าเสียดายที่เวทีนี้ต้องยกเลิกไปพร้อมกับคลื่น Hotwave เมื่อปี 2556 ปิดตำนานเวทีประกวดหาวงดนตรีระดับมัธยมที่ยืนยาวที่สุดในประเทศไปแล้ว

.

3. นิตยสาร Katch

ปีที่เกิด พฤศจิกายน 2541

"

.

นิตยสารวัยรุ่นที่เกิดในยุคเบเกอร์รี่ มิวสิครุ่งเรือง ภายในนิตยสารอุดมไปด้วยเรื่องของแฟชั่นยุคเซ้นเตอร์พอยท์เรืองอำนาจ (สายเดี่ยว ส้นตึก เอวลอย ยุคนี้เลย) และอัปเดทความเคลื่อนไหวของค่าย Dojo City (ค่ายลูกของเบเกอรํรี่มิวสิค) หญิงสาวที่ขึ้นปกนี้คู่แรกก็คือ โบ – จอยซ์ จากวง TK แต่หลังจากค่ายโดโจฯ ล่มสลาย นิตยสารเล่มนี้ก็ปิดตัวไปด้วย

.

4. Card Game

ปีที่เกิด พ.ศ. 2541 (เข้าเมืองไทยปี 2542)

"

.

เกมการ์ดที่เข้ามาเจาะตลาดเด็กไทยเป็นวงกว้าง ผ่านการ์ตูนเรื่อง ‘ยูกิ : เกมกลคนอัจฉริยะ’ ในช่วงแรกการ์ดเกมยูกิ เป็นของที่แถมกับขนมมโอเดงย่า เด็กในยุคนั้นจะซื้อขนมโอเยงย่า เพื่อเอาการ์ดเกม ส่วนขนมจะทิ้งไป ภายหลังก็มีการนำเข้าการ์ดยูกิของแท้ที่ Konami เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มาขาย

การ์ดยูกิของแท้ถือว่าโคตรแพง เป็นของเล่นไฮโซ บางใบนี่ระดับหลักพันบาทเลย หลังจากยูกิ มาสร้างตำนานการ์ดเกมในเมืองไทย ในเวลาต่อมาเด็กไทยก็เริ่มรู้จักการ์ดเกมอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วยทั้ง Magic The Gathering (ต้นแบบของการ์ดยูกิ) หรือการ์ดเกมไทย Summoner Master

.

5. PCT

ปีที่เกิด พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

"

.

โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผูกกับเบอร์โทรศัพท์บ้าน ใช้เฉพาะแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น ต่างจังหวัดที่ไม่ได้ใช้เบอร์ 02 หมดสิทธิ์ เอกลักษณ์ของ PCT ที่ผู้ใช้ทุกคนเจอคือสัญญาญกากมาก ขนาดที่ว่าหมาเห่าก็อาจตัดได้ (บ้านใครสัญญาณพีซีที เลิศนี่มีบุญสุดๆ) แต่ความที่ PCT โทรหากันฟรี วัยรุ่นยุคนั้นก็เลยใช้เยอะ แต่บางคนก็พกทั้งมือถือและ PCT ประมาณว่ามือถือเอาไว้รับ PCT เอาไว้โทร เวรี่ไฮโซมากๆ

PCT ออกโปรดัคมาทั้งสิ้น 12 รุ่น แต่ละรุ่นมีรหัสว่า X เช่น PCT X1 PCT X2 ฯลฯ ปัจจุบัน PCT ยกเลิกการให้บริการแล้วโดยผู้ให้บริการค่อยๆ เริ่มกระบวนการยุติการให้บริการตั้งแต่ปี 2553 เริ่มจากยกเลิกโปรโทรไม่อั้น ปิดตำนาน PCT โทรศัพท์ที่โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง (ถ้ามีคลื่น) อย่างถาวร

.

6. Counter Strike

ปีที่เกิด พฤศจิกายน พ.ศ. 2543

"

.

เกมคอมพิวเตอร์ที่เกิดในปีเดียวกับตำนานมือถือ Nokia 3310 เคาท์เตอร์ฯ เป็นเกมคอมพิวเตอร์เกมแรกที่ทำให้เกิดวัฒนธรรม ร้านเกมคอมพิวเตอร์ในเมืองไทย เนื่องจากเกมนี้เป็นเกมแนวยิงต่อสู้กับอีกฝ่าย ต้องเล่นผ่านระบบเลนถึงจะมัน ดังนั้นถ้าร้านไหนมีคอมเยอะ ก็แปลว่าเราจะได้ซัดกับคนเยอะๆ ในร้าน

คนที่จะเล่นเคาท์เตอร์ฯ จึงต้องไปเล่นที่ร้านเกมเท่านั้น ไม่อย่างนั้นไม่มัน สำหรับกรุงเทพฯ แหล่งที่ร้านเกมเยอะที่สุดก็คือตลาดอมรพันธ์ สี่แยก ม. เกษตร นั่นแหละ ต้นกำเนิดของวัฒนธรรม ‘internet Cafe’ ตัวจริงในเวลาไม่นาน

.

7. Ragnarok Online

ปีที่เกิด ตุลาคม พ.ศ. 2544 ( แต่เข้าไทยในปี 2545)

"

.

เกมออนไลน์ระดับตำนาน ที่ทำให้เด็กไทยในยุคนั้น (ป่านนี้น่าจะอายุทะลุ 30 กันไปหลายคนแล้ว) รู้จักกับสังคมออนไลน์อย่างแท้จริง หลังจากที่รู้จักกับการเล่นเกมแค่กับคนในร้านเดียวกัน ความที่เป็นเกมออนไลน์ ทำให้รูปแบบการเล่นน่าตื่นตามากขึ้น
และเอื้อให้เกิดการสื่อสารกันระหว่างผู้เล่นคนอื่นโดยที่บางคนไม่เคยเห็นหน้ากันด้วยซ้ำ แต่ก็ยังสนิทกัน เช่นการรวมกลุ่มล่าบอส รวมกิลล์กันทำสงครามตีบ้าน จีบกันผ่านเกม (อร๊างงง) วัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากยุคแร็คฯ ครองเมืองก็คือวัฒนธรรม ‘เกรียนคีย์บอร์ด’ ที่ทุกวันนี้ก็ยังเห็นได้อยู่

.

ที่มา : mangozero