9 สิ่งของในชีวิตประจำวันที่ซ่อนกิมมิคเล็กๆ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้

ปกติแล้วในชีวิตประจำวันของเราแต่ละวัน เราจะได้หยิบจับสิ่งของต่างๆ โดยที่บางทีเราแทบจะไม่ทันได้สังเกตเลยว่า สิ่งของพวกนั้นก็ได้แฝงกิมมิคเล็กๆ ไว้เหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นโดนัทเอย หูฟังเอย หรือแม้แต่แว่นตาเอย นี่คือ 9 ความจริงจากสิ่งของที่หลายคนแทบจะไม่รู้มาก่อนเลยว่า เออมันมีความลึกซึ้งจริงๆ!!

.

1. รูตรงกลางโดนัท

อันที่จริงแล้วโดนัทก็เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ไปปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมหลายๆ ชาติ และก็เคยมีประเด็นถกเถียงทางปรัชญามาแล้วเหมือนกันว่า ‘โดนัทมีรูไว้ทำไม?’

บางทฤษฎีก็บอกว่าสาเหตุที่โดนัทมีรูตรงกลางก็เพราะ ในสมัยยุคกลางภูมิปัญญาการทำขนมปังของคนยุคนั้นยังไม่สามารถเจาะรูตรงกลางโดนัทได้ แต่เอาจริงๆ นะ… เป็นข้อสันนิษฐานที่ดูไม่น่าเชื่อถือสุดๆ

.

แต่เมื่อเราได้ไปค้นข้อมูลก็พบทฤษฎีที่น่าสนใจกว่า เพราะอันที่จริงแล้วสาเหตุที่โดนัทต้องมีรูตรงกลางก็เพราะ โดนัทเกิดจากการนำแป้งลงไปทอด และรูตรงกลางก็จะช่วยทำให้ขนมปังสุกอย่างทั่วถึงนั่นเอง

.

2. ลูกศรตรงหน้าปัดเกจบอกน้ำมัน

หลายคนอาจจะยังไม่เคยสังเกตเห็นจุดเล็กๆ ตรงนี้มาก่อน และรถบางคันก็อาจจะไม่ได้มีสัญลักษณ์ลูกศรติดกับรูปตู้เติมน้ำมันเสมอไป และในความเป็นจริงแล้วมันเป็นสัญลักษณ์ที่จะบอกเราว่าฝาเติมน้ำมันอยู่ฝั่งไหนนั่นเอง

.

3. แว่นกันแดด

แค่พูดชื่อ ‘แว่นกันแดด’ แต่ละคนก็ต้องรู้อยู่แล้วว่ามันถูกออกแบบมาเพื่อใช้ป้องกันสายตาจากแสงแดด แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าเดิมทีมันถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างออกไป

มีทฤษฎีหนึ่งบอกว่า แว่นกันแดดสีดำเข้มถูกคิดค้นขึ้นโดยชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในแถบขั้วโลกเพื่อป้องกันแสงสะท้อนจากแสงแดดที่ตกกระทบลงบนพื้นหิมะ

.

แต่ก็มีอีกทฤษฎีหนึ่งที่กล่าวว่า แว่นกันแดดเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายมาจากประเทศจีนในช่วงศตวรรษที่ 12 ซึ่งเดิมทีจะมีเพียงแค่ขุนนางหรือชนชั้นสูงเท่านั้นที่ใส่เพื่อปกปิดความรู้สึกลึกๆ ที่อาจแสดงออกมาจากทางสายตา

.

4. เส้นข้างสมุด

ตอนเด็กๆ เคยสงสัยกันมั้ยล่ะว่า… ทำไมสมุดที่เราใช้ๆ กันถึงต้องมีการตีเส้นด้านข้างมาให้เสมอ (ถึงบางเล่มจะไม่มีแต่ส่วนใหญ่ก็มีนั่นแหละ) จนบางทีก็แอบคิดว่าอาจารย์กับคนผลิตต้องไปร่วมมือกันเพื่อจะได้มีช่องใส่คะแนนแน่ๆ

แต่ในความเป็นจริงแล้วมีทฤษฎีหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า ในยุคอดีตสมุดมักจะตกเป็นอาหารอันโอชะของพวกหนู และส่วนขอบเหล่านั้นก็มักจะเป็นบริเวณที่ประสบกับความโชคร้ายเสมอ จึงทำการตีเส้นเว้นขอบเอาไว้

.

5. รอยบุ๋มบนลูกกอล์ฟ

ในยุคแรกเริ่มนั้นลูกกอล์ฟก็ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะกลมมน ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปประสบการณ์จากนักกอล์ฟมือโปรฯ ได้บอกพวกเขาว่า ลูกกอล์ฟที่ถูกใช้ไปได้ระยะหนึ่งจะมีรอยบุ๋ม ซึ่งทำให้รู้สึกว่าสามารถตีได้ไกลและดีกว่า

จากนั้นบริษัทผลิตลูกกอล์ฟจึงได้หันมาออกแบบให้ลูกกอล์ฟมีรอยบุ๋มตามความต้องการของผู้เล่น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปไล่เก็บลูกกอล์ฟเก่าๆ มาใช้งานอีก

.

6. แถบเบลต์บนเสื้อแจ็คเก็ต

หลายคนอาจจะไม่คุ้นหน้าคุ้นตาเท่าไหร่ แต่ชิ้นส่วนแบบนี้ส่วนใหญ่จะหาพบได้บนเสื้อแจ็คเก็ตหรือเสื้อโค๊ตทั่วๆ ไป

ในอดีตเสื้อโค๊ตที่ได้คุณภาพจะมีขนาดใหญ่ และกว้างเกินไป ทำให้มีการออกแบบสายเบลต์สั้นๆ เพื่อช่วยกระชับให้เสื้อโค๊ตเข้ารูปมากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากนั้นในระหว่างปฏิบัติภารกิจ ทหารสามารถปลดกระดุมสายเบลต์เพื่อเปลี่ยนเสื้อโค๊ตให้กลายเป็นผ้าห่มฉุกเฉินได้ด้วย

.

7. รูใต้แม่กุญแจ

เป็นอย่างที่เราทุกคนทราบกันดีนั่นแหละว่า แม่กุญแจถูกออกแบบมาใช้ล็อคสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่ประตูบ้านยันตู้เซฟส่วนตัว ทว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ฝนตก แม่กุญแจในยุคแรกก็มักจะถูกสนิมกินและชำรุดในที่สุด

ซึ่งอันที่จริงแล้วหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า รูเล็กๆ ที่อยู่ข้างรูใส่กุญแจ ถูกสร้างมาเพื่อใช้เป็นช่องหยอดน้ำมันหล่อลื่น และด้วยวิธีนี้คุณก็ไม่จำเป็นต้องซื้อแม่กุญแจใหม่อีกต่อไป

.

8. ลายทางบนหัวแจ็คของหูฟัง

หลายคนอาจจะยังไม่ทันสังเกตเห็น และหลายคนก็อาจจะเคยสังเกตเห็นกันมาบ้างแล้ว จนกลายเป็นคำถามที่ว่า “ไอ้แทบลายทางสีๆ ตรงหัวแจ็คหูฟังเอาไว้ทำอะไร?”

ซึ่งในทางเทคนิคแล้วถ้าหากไม่มีแทบลายทางตรงหัวแจ็คนั่น เราจะสามารถได้ยินเสียงจากหูฟังออกมาเพียงแค่ข้างเดียวเท่านั้น

.

9. รอยหยักข้างเหรียญ

ไม่ว่าจะเหรียญเงินบาท เงินดอลฯ เงินปอนด์ หรือเงินไหนๆ ต่างก็มีรอยยักยึกยือปรากฎขึ้นข้างเหรียญด้วยกันทั้งนั้น

หนึ่งในทฤษฎีที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือได้อธิบายไว้ว่า ในยุคแรกเงินตราถูกผลิตขึ้นมาจากการนำเหล็กมาตัดแบ่งให้ได้รูปทรง จนต่อมาได้มีภูมิปัญญาการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่เรียกว่า ‘Reeding’

ซึ่งจุดประสงค์ในการออกแบบรอยหยักก็เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเหรียญในสมัยนั้น และดูเหมือนว่าวิธีนี้จะใช้ได้ผลมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันนี้เลยล่ะ

.

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ แหม่.. ไม่บอกไม่รู้นะเนี๊ยะ!!

.

ที่มา : Brightside | catdumb